เรื่องของยุง

 
ยุง จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
          ยุง เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลกแต่พบมากในเขตร้อนและเขตอบอุ่น จากหลักฐานทางฟอสซิลสามารถสันนิษฐานได้ว่า ยุงมีในโลกตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์เมื่อประมาณ 38-54 ล้านปีมาแล้ว โดยปกติตัวเมียมักจะกินเลือดเป็นอาหาร ส่วนตัวผู้มักจะกินน้ำหวานในดอกไม้ นอกจากนี้ยังเป็นแมลงที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคอีก ด้วย เช่น ไข้เลือดออก ยุงตัวเมียจะมีอายุประมาณ 1-3 สัปดาห์ ขึ้นกับชนิดและสภาพแวดล้อม ส่วนตัวผู้จะมีอายุประมาณ 4-5 วัน จะตายหลังจากผสมพันธุ์เสร็จ ยุงทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 3,450 ชนิด พบในประเทศไทย ประมาณ 412 ชนิด แต่ที่คุ้นเคยกันดีคือ ยุงก้นปล่อง (Anopheles) และยุงลาย (Aedes)

ลักษณะโดยทั่วไป

          ยุง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กโดยทั่วไปมีขนาดลำตัวยาว 4-6 มิลลิเมตร บางชนิดมีขนาดเล็กมาก 2-3 มิลลิเมตร และบางชนิดอาจยาวมากกว่า 10 มิลลิเมตร
          ยุง มีส่วนหัว อก และท้อง มองเห็นได้อย่างชัดเจนและสามารถแยกออกจากแมลงชนิดอื่นได้อย่างง่ายๆ โดยสังเกตจากรูปพรรณสัณฐาน ดังต่อไปนี้คือ มีปากคล้ายงวง ยื่นยาวออกไปข้างหน้า และมีปีกสำหรับบิน 1 คู่


วงจรชีวิตของยุง
ยุงมีวงจรชีวิตแบบสมบูรณ์ (holometabolous) ซึ่งประกอบด้วย ไข่ ลูกน้ำ ตัวโม่ง และยุงตัวแก่

การเกิดของยุงจะแบ่งเป็น 4 ขั้น

   1. ช่วงเป็นไข่ ซึ่งยุงจะไข่ในน้ำ
   2. ช่วงเป็นลูกน้ำตัวยาว (Larva) จะกินสารอินทรีย์ แบคทีเรีย แพลงตอนในน้ำเป็นอาหาร
   3. ช่วงเป็นลูกน้ำตัวกลม หรือลูกโม่ง (Pupa) คือตัวอ่อนของยุงที่พร้อมจะเป็นยุงแล้ว จะไม่กินอาหาร
   4. ช่วงที่เป็นยุง (ตัวแมลง)

          ยุง เมื่อลอกคราบออกจากระยะตัวโม่งได้ไม่กี่นาทีก็สามารถออกบินได้เลย อาหารที่ใช้ในระยะนี้ของทั้งตัวผู้และตัวเมียเป็นน้ำหวานจากดอกไม้หรือ ต้นไม้ การผสมพันธุ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอากาศ บางชนิดการผสมพันธุ์เกิดขึ้นในขณะที่ยุงตัวผู้มีการบินวนเป็นกลุ่ม (swarming) โดยเฉพาะเวลาหัวค่ำและใกล้รุ่ง ตามพุ่มไม้ บนศีรษะ ทุ่งโล่ง หรือบริเวณใกล้กับเหยื่อ เป็นต้น และตัวเมียจะบินเข้าไปเพื่อผสมพันธุ์ ยุงตัวเมียส่วนใหญ่ผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวโดยที่เชื้ออสุจิจากตัวผู้จะถูก กักเก็บในถุงเก็บน้ำเชื้อ ซึ่งสามารถใช้ไปได้ตลอดชีวิตของมัน ส่วนยุงตัวผู้สามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง ยุงตัวเมียที่จับได้ตามธรรมชาติมักมีเชื้ออสุจิอยู่ในถุงเก็บน้ำเชื้อเสมอ

          ยุงตัวเมีย เมื่อมีอายุได้ 2-3 วันจึงเริ่มออกหากินเลือดคน หรือสัตว์ เพื่อนำเอาโปรตีนและแร่ธาตุไปใช้สำหรับการเจริญเติบโตของไข่ในรังไข่ แต่มียุงบางชนิดที่ไม่จำเป็นต้องกินเลือดก็สามารถสร้างไข่ในรังไข่ได้ เช่น ยุงยักษ์ เลือดที่กินเข้าไปถูกย่อยหมดไปในเวลา 2-4 วัน แต่ถ้าอากาศเย็นลงการย่อยจะใช้เวลานานออกไป


         เมื่อไข่สุกเต็มที่ยุงตัวเมียจะหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการวางไข่ หลังจากวางไข่แล้วยุงตัวเมียก็ออกดูดเลือดใหม่และวางไข่ได้อีก บางชนิดที่มีอายุยืนมากอาจไข่ได้ร่วม 10 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 4-5 วัน แต่อาจเร็วกว่าหรือนานกว่า ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและชนิดของยุง ส่วนยุงตัวผู้ตลอดอายุขัยจะกินอาหารจากแหล่งน้ำหวานของดอกไม้หรือพืชที่ผลิต น้ำตาลในธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับยุงบางชนิดที่ตัวเมียไม่กัดดูดเลือดคนหรือสัตว์เลย

          ยุงตัวเมีย วางไข่ประมาณ 30-300 ฟองต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของยุงและปริมาณเลือดที่กินเข้าไป ไข่จะมีสีขาวหรือครีมเมื่อออกมาใหม่ ๆ และในเวลาไม่กี่นาทีจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำไปจนถึงสีดำ ไข่ยุงมีรูปร่างลักษณะหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิด ยุงลายวางไข่บนวัตถุชื้น ๆ เหนือผิวน้ำ ยุงรำคาญวางไข่ติดกันเป็นแพบนผิวน้ำ ยุงก้นปล่องวางไข่บนผิวน้ำ ส่วนยุงเสือวางไข่ติดกันเป็นกลุ่มใต้ผิวน้ำติดกับพืชน้ำที่ลอยอยู่ ไข่ยุงส่วนใหญ่ทนต่อความแห้งแล้งไม่ได้ยกเว้นไข่ของยุงลายซึ่งสามารถทนทาน ต่อความแห้งแล้งได้นานหลายเดือน ในเขตร้อนชื้นไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน 2-3 วัน

          ลูกน้ำ ของยุงเป็นระยะที่มีความแตกต่างจากตัวอ่อนของแมลงชนิดอื่น มีลักษณะส่วนอกกว้างใหญ่กว่าส่วนหัวและส่วนท้อง เมื่อออกมาจากไข่ใหม่ ๆ จะมีขนาดเล็กมากและค่อยๆ โตขึ้น มีการลอกคราบ 4 ครั้ง ก่อนที่จะเป็นตัวโม่ง ลูกน้ำต้องอาศัยอยู่ในน้ำตลอดระยะที่ดำรงชีวิต มีบางชนิดที่ปรับสภาพพัฒนาตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เช่น สามารถอยู่ได้ในสภาพที่เป็นโคลนเปียก หรือในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำหรือสูง ลูกน้ำของยุงชนิดต่าง ๆ หายใจจากผิวน้ำโดยผ่านท่อหายใจ (ยุงลายและยุงรำคาญ) หรือรูหายใจ (ยุงก้นปล่อง) แต่ลูกน้ำของยุงเสือมี ท่อหายใจที่สามารถสอดหรือแทงเข้าไปในบริเวณรากของพืชน้ำ โดยเฉพาะพวกจอกและผักตบชวา เพื่อใช้ออกซิเจนจากโพรงอากาศที่อยู่ที่รากหรือลำต้นของพืชน้ำ ลูกน้ำยุงกินอาหารจำพวก แบคทีเรีย โปรโตซัว ยีสต์ สาหร่าย และพืชน้ำที่มีขนาดเล็ก ลูกน้ำยุงก้นปล่องส่วนใหญ่หากินบริเวณผิวน้ำ บางชนิดอาจดำลงไปกินอาหารใต้ผิวน้ำด้วย ในขณะที่ลูกน้ำยุงลาย ยุงรำคาญ และยุงเสือหากินใต้ผิวน้ำ ลูกน้ำยุงยักษ์กินลูกน้ำชนิดอื่นหรือพวกเดียวกันเองเป็นอาหาร ในเขตภูมิประเทศร้อนชื้นลูกน้ำใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงกลายเป็นตัวโม่ง

          ระยะตัวโม่ง (pupa) มีรูปร่างคล้ายเครื่องหมายจุลภาค ( , ) อาศัยอยู่ในน้ำ ตัวโม่งเป็นระยะพักตัวจะไม่กินอาหาร รับเอาอากาศในการหายใจแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อถูกรบกวนจะดำน้ำลงสู่ข้างล่างใต้น้ำอย่างรวดเร็วและอยู่ใต้น้ำได้นาน หลายนาที ตัวโม่งของยุงลายเสือแตกต่างกับชนิดอื่นโดยมีท่อหายใจแหลมสามารถแทงเข้าราก หรือลำต้นพืชน้ำเพื่อหายใจเหมือนกับระยะลูกน้ำ ในภูมิประเทศเขตร้อนตัวโม่งจะใช้เวลา 2-4 วัน ยุงตัวเต็มวัยลอกคราบออกมาไม่กี่นาทีก็สามารถบินได้ ยุงตัวเมียบางชนิดชอบกัดกินเลือดคน (philic) บางชนิดชอบกินเลือดสัตว์ (zoophilic) บางชนิดกัดดูดเลือดโดยไม่เลือก ยุงสามารถเสาะพบเหยื่อได้โดยอาศัยปัจจัยหลายประการ เช่น กลิ่นตัว คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ( ที่ออกมาจากลมหายใจ ) หรืออุณหภูมิของร่างกาย

ความสำคัญทางการแพทย์
          ยุง มีความสำคัญในด้านการแพร่เชื้อโรคหรือปรสิตต่าง ๆ โดยการกินเลือดของยุง ยุงส่วนมากจะบินกระจายจากแหล่งเพาะพันธุ์ไปได้ไกลออกไปในรัศมีประมาณ 1-2 กิโลเมตร โดยบินทวนลมตามกลิ่นเหยื่อไป กระแสลมที่แรงอาจทำให้ยุงบางชนิดแพร่ออกจากแหล่งเพาะพันธุ์ไปได้ไกลยิ่งขึ้น ในปัจจุบันยุงสามารถแพร่ไปจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง หรือทวีปหนึ่งไปยังอีกทวีปหนึ่ง โดยอาศัยเครื่องบิน เรือหรือรถยนต์โดยสาร

          ในประเทศเขตร้อน ยุงตัวเมียส่วนใหญ่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ 2-3 สัปดาห์ หรือถ้าอุณหภูมิ ความชื้นและแสงสว่างเหมาะสมก็อาจนานถึง 4-6 สัปดาห์ หรือนานกว่านี้ ส่วนยุงตัวผู้โดยทั่วไปมีอายุประมาณ 1 สัปดาห์


ยุงที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ
ยุงก้นปล่อง
ยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย ในประเทศไทยเท่าที่พบในปัจจุบันมียุงก้นปล่องอย่างน้อย 73 ชนิด แต่มีเพียง 3 ชนิดที่เป็นพาหะสำคัญ สังเกตยุงชนิดนี้ได้ง่ายเวลามันเกาะพัก จะยกก้นชี้เป็นปล่อง

ยุงลาย
ยุงลายที่พบตามบ้านเรือนหรือชนบท (Aedes aegypti และ Aedes albopictus) เป็นพาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออก ส่วนยุงลายป่าเป็นพาหะโรคเท้าช้าง

ยุงลายชนิด Ae. aegypti หรือ ยุงลายบ้าน พบบ่อยเป็นประจำในเขตเมือง มีขนาดค่อนข้างเล็ก บินได้ว่องไว บน scutum มีลายสีขาวรูปเคียว 2 อันอยู่ด้านข้าง มีขาลายชัดเจน ยุงชนิดนี้เพาะพันธุ์ในภาชนะที่มีน้ำขังทุกขนาดทั้งในและนอกบ้าน ชอบกัดกินเลือดคนมากกว่ากินเลือดสัตว์ มักหากินเวลากลางวันช่วงสายและบ่าย ยุงลายชอบเข้ากัดคนทางด้านมืดหรือที่มีเงาโดยเฉพาะบริเวณขาและแขน ขณะที่กัดมักไม่ค่อยรู้สึกเจ็บ คนถูกกัดจึงไม่รู้สึกตัว ยุง Ae. aegypti กัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน และเกาะพักตามมุมมืดในห้อง โอ่ง ไห หรือตามพุ่มไม้ที่เย็นชื้น

ยุงลายอีกชนิดหนึ่ง คือ Ae. albopictus หรือยุงลายสวน พบได้ทั่วไปในเขตชานเมือง ชนบทและในป่า มีลวดลายที่ scutum แตกต่างจาก Ae. aegypti คือมีแถบยาวสีขาวพาดผ่านตรงกลางไปตามความยาวของลำตัว เพาะพันธุ์ในภาชนะที่มีน้ำขัง กระบอกไม้ โพรงไม้ กะลามะพร้าว ใบไม้ ฯลฯ ยุงชนิดนี้มีอุปนิสัยคล้าย ๆ กับ Ae. aegypti แต่มีความว่องไวน้อยกว่า



ยุงรำคาญ
ยุงรำคาญมีหลายชนิดที่ไม่ใช่ก่อความรำคาญเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพาหะที่สำคัญของทั้งไวรัสไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้าง ลูกน้ำยุงรำคาญมักอาศัยอยู่ในน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำนิ่งหรือน้ำไหล ที่ค่อนข้างสกปรกที่มีไนโตรเจนสูงหรือมีการหมักเน่าของพืช

ยุงรำคาญที่พบบ่อยในเขตเมือง ได้แก่ Culex quinquefasciatus เป็นยุงสีน้ำตาลอ่อน เพาะพันธุ์ในน้ำเสีย ตามร่องระบายน้ำ คูและหลุมบ่อต่าง ๆ ยุงรำคาญพบบ่อยในชนบท ได้แก่ Cx. tritaeniorhynchus และ Cx. vishnu เนื่องจากมีท้องนาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หลัก โดยเฉพาะช่วงที่ไถนา และบริเวณหญ้าแฉะรกร้าง จึงมีมากในฤดุฝน ยุงชนิดนี้ชอบกัดสัตว์ พวกวัว ควายและหมูมากกว่าคน ยุงที่ก่อความรำคาญอีกสกุลหนึ่งที่มักกัดในเวลาพลบค่ำ มีขนาดใหญ่บินช้าๆ และกัดเจ็บ คือ ยุง Armigeres ไม่มีชื่อภาษาไทย



ยุงลายเสือ
ยุงลายเสือหรือยุงเสือ ลำตัวและขามีลวดลายค่อนข้างสวยงาม บางชนิดมีสีเหลืองขาวสลับดำคล้ายลายของเสือโคร่ง เช่น Ma. uniformis บางชนิดมีลายออกเขียว คล้ายตุ๊กแก เช่น 'Ma. annulifera ยุงเหล่านี้ชอบเพาะพันธุ์ในบริเวณที่เป็นหนอง คลอง บึง สระ ที่มีพืชน้ำพวก จอกและ ผักตบชวา อยู่

ยุงลายเสือจะมีปีกแตกต่างจากยุงกลุ่มอื่น คือ เส้นปีกจะมีเกล็ดใหญ่สีอ่อนสลับเข้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดเช่นกัน ทำให้ดูคล้ายมีฝุ่นผงเกาะติดทั่วตัว ขาลายเป็นปล้อง ๆ ตัวแก่มักจะกินเลือดสัตว์มากกว่าคน กัดกินเลือดนอกบ้าน โดยเฉพาะตามทุ่ง หนองน้ำ คลอง บึง ที่มีพืชน้ำขึ้น มักกัดเวลาพลบค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดิน หรือบางครั้งกัดตอนกลางวันถ้ามีเหยื่อเข้าไปใกล้บริเวณเกาะพัก ยุงลายเสือหลายชนิดเป็นพาหะของโรคเท้าช้างในภาคใต้ของประเทศไทย บางชนิดเป็นพาหะบริเวณชายแดนไทย - พม่า


การป้องกันยุง
การป้องกันยุงกัด
การป้องกันยุงกัดเป็นวิธีที่สามารถลดความรำคาญที่เกิดจากยุงและลดความ เสี่ยงในการติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบสารเคมีฆ่าแมลง การติดตั้งมุ้งลวด การสุมควันไฟไล่ยุง การจุดยากันยุง และการทาสารเคมีไล่ยุง (repellent) เช่น น้ำมันตะไคร้หอม หรือสารสังเคราะห์ เช่น DEET (diethyltoluamide)


การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์
การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์เป็นวิธีที่สามารถลดจำนวนยุงที่มากัดได้วิธี หนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของแหล่งเพาะพันธุ์ ที่สามารถทำได้ง่าย ได้แก่

1. การดูแลโอ่งน้ำและภาชนะน้ำขังตามบ้านเรือน เพื่อควบคุมยุงลาย (Ae. aegypti)

2. หรือการระบายน้ำตามท้องร่องไม่ให้ขังหรือเน่าเสีย เพื่อควบคุมยุงรำคาญ (Cx. quinquefasciatus)
3. การปล่อยปลาที่กินยุงหรือใช้สารเคมีฆ่าแมลง เช่น Abate ใส่ลงในภาชนะต่าง ๆ

แต่ ในแหล่งเพาะพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่หรือกว้างขวาง เช่น ในท้องนา ลำธาร หรือกระบอกไม้ในป่า การควบคุมลูกน้ำยุงจะทำได้ยากมากหรือควบคุมไม่ได้เลย



การควบคุมตัวยุง
การควบคุมตัวยุง หมายถึงการทำให้ความหนาแน่นของยุงลดลง โดยการใช้วิธีการต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัยสารเคมีฆ่าแมลง โดยอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. การลดจำนวนยุงที่ก่อความรำคาญ ส่วนใหญ่กระทำในครัวเรือน โดยการใช้สารเคมีฆ่าแมลงที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด หรือการใช้กับดักแสงไฟฆ่ายุง

2. การลดจำนวนยุงพาหะ มักกระทำในวงกว้างเมื่อเกิดมีการระบาดของโรค เช่น การพ่นสารเคมีฆ่าแมลงชนิดฝอยละอองเพื่อลดจำนวนยุงลาย การพ่นสารเคมีฆ่าแมลงชนิดตกค้างในบ้านเรือนและการใช้มุ้งชุบสารเคมีฆ่าแมลง เพื่อควบคุมมาลาเรีย เป็นต้น


ตุ่มคันที่เกิดจากยุงกัด
          เมื่อยุงดูดเลือดเหยื่อ ยุงจะปล่อยน้ำลายซึ่งมีโปรตีนบางอย่างออกมาด้วย และน้ำลายของยุงยังอยู่ในรอยเจาะ เป็นตัวการทำให้ผิวหนังหลั่งสารฮิสตามีน (histamine) ออกมา ฮิสตามีนจะกระตุ้นเส้นใยประสาทให้ส่งสัญญาณไปที่สมองแล้วทำให้เกิดอาการคัน และโปรตีนในน้ำลายของยุงยังไปกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอีกด้วย ทำให้บริเวณที่โดนกัด (weal) จะเกิดการบวมแดง แม้ว่าในที่สุดแล้วการบวมจะหายไป แต่อาการคันยังคงอยู่จนกว่าภูมิคุ้มกันจะทำให้โปรตีนนั้นสลายไป